ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้มีรายจ่ายอยู่กลุ่มหนึ่งถือเป็น รายจ่ายต้องห้าม กล่าวคือ ในทางบัญชีได้ลงเป็นรายจ่ายไปแล้วแต่ทางภาษีถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะต้องบวกกลับในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถ้าพิจารณารายจ่ายต้องห้ามตามมาตราดังกล่าวแล้ว รายจ่ายกลุ่มที่มีประเด็นปัญหาส่วนข้างมาก คือ รายจ่ายที่เกี่ยวกับกิจการหรือไม่เกี่ยวกับกิจการตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากรที่กำหนดไว้ว่า
“มาตรา 65 ตรี รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ …(13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ”
จากบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวจึงมีปัญหาในการพิจารณาว่ารายจ่ายลักษณะอย่างใดเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะประเด็นปัญหาดังกล่าวมีข้อโต้แย้งระหว่างผู้เสียภาษีกับเจ้าพนักงานประเมินอยู่เป็นประจำ เพราะในมุมมองของผู้เสียภาษีมักจะมองว่า รายจ่ายที่จ่ายไปก็เพื่อกิจการทั้งนั้น เพราะการประกอบกิจการต้องมีรายจ่ายเกิดขึ้น แต่ในมุมมองของเจ้าพนักงานประเมินก็อาจจะมีความเห็นปอีกทางว่า มันไม่เกี่ยวกับกิจการ กิจการไม่จำเป็นต้องจ่ายเลย ก็ประกอบกิจการได้ หรือไม่จำเป็นต้องจ่ายไปถึงขนาดนั้น จะมีข้อยุติอย่างใดที่ผู้ประกอบการจะทราบได้ว่า ในทางภาษีจึงจะยอมรับรายจ่ายนั้น ๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องยากที่จะหาข้อยุติในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีลักษณะความจำเป็นของรายจ่ายที่แตกต่างกันไป เช่น บางธุรกิจจำเป็นต้องมีค่าโฆษณามาก ๆ เพื่อหารายได้ก็จะต้องพิจารณาความจำเป็นและเหมาะสม
รายจ่ายที่กิจการจ่ายไปถ้าเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการย่อมลงรายจ่ายทางภาษีได้ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ในการบริหารงาน รายจ่ายในการขาย รายจ่ายส่งเสริมการขาย รายจ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าตอบแทนกรรมการ ค่าพาหนะรายจ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าระวาง ค่าขนส่ง ค่าซ่อมแซมค่านายหน้า ค่าโฆษณา ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าธรรมเนียมในการแนะนำและปรึกษา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ถ้ารายจ่ายดังกล่าวได้จ่ายไปเกินสมควรเกินกว่าความจำเป็นแก่กิจการ รายจ่ายส่วนที่จ่ายเกินไปอาจเป็นรายจ่ายต้องห้ามได้ซึ่งรายจ่ายที่สมควรแก่กิจการจะมีขอบเขตแค่ไหน เพียงใดย่อมอยู่กับลักษณะของรายจ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย ผู้รับ ผู้จ่ายเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานในการจ่าย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องรายจ่ายอย่างหนึ่งอาจมีความจำเป็นในสถานการณ์อย่างหนึ่งแต่ไม่มีความจำเป็นในอีกสถานการณ์อย่างหนึ่งก็จะกลายเป็นว่าจ่ายผิดเวลาไป อาจจะถูกมองว่าเป็นรายจ่ายที่เกินสมควรได้
ดังนั้นบริษัทฯ ต้องพึงตระหนักในปัญหาดังกล่าวด้วย เพราะเจ้าพนักงานประเมินอาจจะใช้ดุลพินิจตัดรายจ่ายที่เจ้าพนักงานเห็นว่าเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปหรือจ่ายเกินไป ซึ่งไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะอันเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากรได้ตัวอย่างที่พบประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินตัดรายจ่ายเช่น เงินเดือนที่จ่ายสูงเกินไป ค่าตอบแทนกรรมการที่กำหนดจ่ายเกินกว่าความจำเป็น โดยบริษัทฯ เลี่ยงไปเรียกชื่ออื่น เช่น เรียกว่าเป็นค่าManagement Feeจ่ายให้กรรมการเป็นจำนวน 4,000,000 บาทนอกเหนือจากค่าบำเหน็จปกติ เป็นต้น
ในส่วนของบริษัทฯ จะต้องวางแผนเกี่ยวกับรายจ่ายอย่างไรจึงจะไม่ถูกมองว่าเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปโดยเกินสมควรในเรื่องนี้เห็นว่ารายจ่ายใดที่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการแต่จะเป็นรายจ่ายอันสมควรจ่ายหรือไม่ บริษัทฯ เองย่อมพึงทราบได้อยู่แล้วว่า ถ้าจ่ายไปเพียงเท่านี้ก็สมควรกับกิจการหรือเพื่อหากำไรได้อยู่แล้ว หากจ่ายไปมากกว่านี้กิจการก็จะไม่ได้ประโยชน์มากไปกว่าที่ได้อยู่แล้ว ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่จะใช้ชี้แจงต่อเจ้าพนักงานได้ในเวลาที่ถูกสอบถาม โดยแสดงถึงเหตุผลและความจำเป็นว่า ที่ต้องจ่ายไปจำนวนเท่านี้ก็เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการ
ดังนั้น หากตัดรายจ่ายส่วนนี้บางส่วนกิจการอาจไม่ได้ประโยชน์หรือหากำไรเพื่อกิจการได้ตามที่สมควรจะเป็น แต่ถ้าหากตอบคำถามไม่ได้ว่าจ่ายได้ประโยชน์แก่กิจการอย่างใดก็อาจจะถูกตัดรายจ่ายดังกล่าวได้
นอกจากนี้แม้รายจ่ายใดบริษัทฯ เห็นว่าจ่ายไปเพื่อประโยชน์กิจการแต่หากเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามในข้ออื่น ๆ ตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร รายจ่ายดังกล่าวก็จะเป็นรายจ่ายต้องห้ามได้ เช่น ค่ารับรองส่วนที่จ่ายไปเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระแต่ละเดือนภาษี เป็นต้น
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหลักเกณฑ์การลงรายจ่ายในทางภาษี เมื่อลงรายจ่ายไปแล้วหากตอบคำถามดังต่อไปนี้ได้ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่าปัญหาเรื่องรายจ่ายต้องห้ามอาจไม่เกิดขึ้นสำหรับรายจ่ายนั้น ๆ
อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรจะมีการเปลี่ยนแปลงหรืออกกฎหมายใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเสียภาษีอยู่เสมอ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีนั้นเหมาะสมและทันกับวิธีการทำงานของธุรกิจในปัจจุบัน เจ้าของธุรกิจจึงจำเป็นต้องศึกษากฎ ระเบียบใหม่เหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่ง บริษัท ทำบัญชี APlus Tax Accounting เรายิินดีให้คำปรึกษาทั้งเรื่องของ การวางแผนภาษี การปิดงบการเงินประจำปี ตรวจสอบบัญชี จดทะเบียนบริษัท และ ห้างหุ้นส่วน
This Website uses cookies. Please accept our cookie policy for your best experience. You can learn more on how to adjust your cookie setting in ourcookie policy here